loading...

วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560

สงกรานต์ตายพุ่ง167ศพเซ่นเมาขับ

04:27


สงกรานต์วันที่สามเสียชีวิตพุ่ง 167 ศพ สาเหตุเมาแล้วขับ โคราชแชมป์คนตาย ชัยภูมิหนึ่งเดียวจังหวัดไร้คนเจ็บ รมว.ท่องเที่ยวฯ กำชับเจ้าหน้าที่เพิ่มจุดตรวจ สกัดพวกตีนผี นายกฯ วอนสร้างจิตสำนึกผู้ขับขี่ เชื่อป้องอุบัติเหตุได้ สั่ง จนท.เลิกนำตัวเลขคนตายเปรียบเทียบ เลขาฯ สมอ.แจงสวมหมวกกันน็อกได้มาตรฐาน ลดความสูญเสีย

เมื่อวันที่ 14 เม.ย.60 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนปี 2560 นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เม.ย.60 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการรณรงค์ช่วง 7 วันอันตราย และเป็นวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ว่า เกิดอุบัติเหตุ 748 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 79 ราย บาดเจ็บ 752 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ 402 ครั้ง หรือร้อยละ 48.80 ขับรถเร็ว 240 ครั้ง ร้อยละ 27.54 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 668 คัน ร้อยละ 86.53 รถปิกอัพ 54 คัน ร้อยละ 6.99 แยกเป็น รถส่วนบุคคลร้อยละ 90.28 รถโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 6.87 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ตัดหน้ากระชั้นชิด ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.97 บนถนนใน อบต.หมู่บ้าน ร้อยละ 35.70 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 34.63 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ช่วงเวลา 16.01- 20.00 น. ร้อยละ 32.89 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 18.17

loading...
มีการจัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,043 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,141 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 795,063 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 136,509 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 38,746 ราย ไม่มีใบขับขี่ 36,457 ราย จัดตั้งด่านชุมชน 9,754 ด่าน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 74,313 คน

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และอุดรธานี 33 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สกลนคร และกรุงเทพมหานคร 5 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 37 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 3 วัน (11-13 เม.ย.60) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,743 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 167 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,795 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 16 จังหวัด ขณะที่จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 3 วันมี 1 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 83 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 9 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 86 คน

นางกอบกาญจน์กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่าสาเหตุที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับและขับรถเร็ว โดยรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ขณะที่ถนนสายรองและเส้นทางในชุมชนหมู่บ้านเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าถนนสายหลัก ประกอบกับวันนี้เข้าสู่วันที่ 2 ของช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงจุดหมายและท่องเที่ยวเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่แล้ว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดปรับมาตรการและวางแผนจัดตั้งจุดตรวจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ เน้นการเรียกตรวจผู้ขับขี่ที่ขับรถเร็ว พร้อมเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานบนเส้นทางสายรอง รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของด่านชุมชน จุดตรวจและจุดสกัด โดยจัดชุดปฏิบัติการประจำตำบลตระเวนสอดส่องและเฝ้าระวังบริเวณสถานที่จัดงานและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ เข้มงวดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งด้านสถานที่ ระยะเวลา และช่วงอายุของผู้ซื้อ

นอกจากนี้ ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยในพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์และพื้นที่จัดงานของภาคเอกชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการจัดงานมิดไนต์สงกรานต์ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อลดความสูญเสียและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้วาระ ประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand)

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในช่วง 3 วัน พบว่า รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 67.92 มีสาเหตุจากการขับรถเร็ว ร้อยละ 40.38 ทำให้ดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุสูง ส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตที่จุดเกิดเหตุ คิดเป็นร้อยละ 59.75 ประกอบกับในวันนี้การจราจรบนถนนสายหลักจะมีปริมาณรถน้อย ทำให้ผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วได้ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง


loading...
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวสรุปผลการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) หรือ UCEP Coordination Center ตลอด 13 วันที่ผ่านมา พบสถิติผู้ขอใช้สิทธิทั้งสิ้น 1,366 ราย เป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ 538 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยจากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า 317 ราย, จากสิทธิประกันสังคม 83 ราย, จากสิทธิข้าราชการ 104 ราย และสิทธิกองทุนอื่น ๆ อีก 34 ราย ทั้งนี้ ในวันที่ 12 เม.ย.และ 13 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงการเดินทางกลับบ้านและช่วงฉลองเทศกาลสงกรานต์วันแรก มีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ขอใช้สิทธิ UCEP มากถึง 243 คน โดยเป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ถึง 80 ราย ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้เจ้าหน้าที่ของเราพร้อมให้บริการประชาชนผ่านสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ประชาชนสามารถแจ้งเหตุเมื่อพบผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านแอปพลิเคชัน EMS1669 เพิ่มเติมด้วย ซึ่งจะทำให้การแจ้งเหตุแม่นยำ และไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

“อยากให้ประชาชนจดจำคาถาข่มดวงที่เคยบอกประชาชนไว้ก่อนหน้านี้ หากสามารถทำตามคาถาข่มดวงที่ให้ไว้ได้ ก็จะทำให้รอดพ้นจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน คือการคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งคนขับคนนั่ง การสวมหมวกนิรภัย สำหรับประชาชนที่เดินทางไกลด้วยมอเตอร์ไซค์ การดื่มไม่ขับ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ประสิทธิภาพการขับขี่ลดลง และจะทำให้เกิดอุบัติเหตุอย่างง่ายดายได้ การหลีกเลี่ยงการใช้บริการของวัดก่อนวัยอันควร หมายถึง ถ้าเราขับขี่ดี สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย เราก็จะหลีกเลี่ยงการใช้บริการของวัดก่อนวัยอันควรได้ ข้อสุดท้าย หากง่วงก็จะต้องไม่ฝืนขับรถ ซึ่งหากเราสามารถทำตามทุกข้อนี้ได้ เราก็จะปลอดภัยในทุกช่วงเทศกาลอย่างแน่นอน” เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว

ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าวถึงการดำเนินงานตามสิทธิ UCEP ว่า ผู้ที่จะใช้สิทธิ UCEP ได้นั้น ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจาก 3 กองทุนคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กองทุนประกันสังคม, กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้และเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์ ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ตามหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินที่ กพฉ.ประกาศกำหนด และรายละเอียดเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ที่ สพฉ.กำหนดกรณีกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤติ คือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

อาการทั้งหมดนี้ อยากให้ประชาชนจำให้แม่น อยากย้ำกับประชาชนในทุกๆ เทศกาล หากประชาชนพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติตาม 6 อาการ ให้รีบโทร.สายด่วน 1669 เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสมทันที ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดยังมีความไม่เข้าใจในการดำเนินการตามนโยบาย UCEP นี้ ก็สามารถโทร.เข้ามาสอบถามได้ที่เบอร์ 0-2 872-1669 หรืออีเมล ucepcenter@niems.go.th เราพร้อมในการให้บริการกับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงไม่เว้นวันหยุดราชการ

ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยปฏิบัติ เช่น กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพ ฯลฯ ปรับวิธีการรวบรวมและรายงานข้อมูลการป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์และเทศกาลอื่นๆ แก่สาธารณชน โดยให้เน้นลงรายละเอียดให้ครบถ้วน จัดทำแบบฟอร์มสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเปรียบเทียบกับสิ่งที่กฎหมายห้ามไว้ ไม่เน้นรายงานจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในปีนี้เทียบกับปีก่อน เพราะไม่มีผลต่อการป้องกันแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ต้องบอกให้ประชาชนรู้ถึงต้นเหตุของอุบัติเหตุแต่ละครั้งว่าเกิดจากอะไร เช่น เมื่อรถโดยสารสาธารณะประสบอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บเป็นผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร คาดเข็มขัดนิรภัยหรือไม่ บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ รถยนต์ส่วนบุคคล มีการคาดเข็มขัดนิรภัยหรือไม่ ผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บนั่งด้านหน้าหรือด้านหลัง ส่วนรถกระบะ มีการคาดเข็มขัดนิรภัยหรือไม่ ผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บนั่งด้านหน้า บริเวณแค็บหรือท้ายกระบะ เป็นต้น รวมทั้งบอกด้วยว่า เกิดจากสาเหตุเมาแล้วขับกี่ครั้ง ขับรถเร็วกี่ครั้ง ไม่สวมหมวกหรือเข็มขัดนิรภัยกี่ครั้ง โดยขอความร่วมมือไปยังมูลนิธิ องค์กร สถาบันการศึกษา และสำนักวิจัยต่าง ๆ ให้ร่วมกันรณรงค์ในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันสร้างจิตสำนึกใหม่ให้แก่ประชาชนว่า ควรจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการขับขี่รถอย่างไรเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ไม่ใช่ให้ทราบเพียงตัวเลขที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะเหตุการณ์ในวันนี้เกิดขึ้นไม่แตกต่างจากสิบปีก่อนที่มีแต่คนบาดเจ็บล้มตายวนเวียนอยู่เช่นเดิม และประเทศไทยยังติดอันดับ 2 ของโลกที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด หากเราไม่ช่วยกันแก้ไขก็ยากที่จะสำเร็จ นายกฯ ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองที่ประจำอยู่ที่จุดตรวจต่างๆ ทั่วประเทศ หมั่นสำรวจตรวจสอบทั้งรถ ผู้ขับขี่ และผู้โดยสารที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดอันตราย โดยต้องให้คำแนะนำตักเตือนเพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ จากข้อมูลในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย.60 ผ่านไป 2 วัน พบว่า การเมาแล้วขับ เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด รองลงมาคือขับรถเร็ว โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ยังพบด้วยว่าผู้ขับขี่ยังฝ่าฝืนไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ขับขี่รถโดยไม่มีใบอนุญาตเป็นจำนวนมาก

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ สมอ.จึงบังคับใช้กฎหมายควบคุมผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์หมวกนิรภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (มาตรฐานบังคับ) มอก.369-2557 ให้เข้มข้นขึ้น โดยผลิตภัณฑ์จะต้องผลิตและนำเข้าเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเท่านั้น โดยครอบคลุมผลิตภัณฑ์ 3 แบบ ได้แก่ แบบเต็มใบปิดหน้า แบบเต็มใบเปิดหน้า และแบบครึ่งใบ ซึ่งแต่ละแบบจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป แต่คุณสมบัติเบื้องต้นคือป้องกันศีรษะส่วนบนของผู้สวมใส่จากการกระแทกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และลดความรุนแรงที่จะส่งผ่านไปทำลายสมองของผู้สวมใส่ได้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สมอ.จึงขอเชิญชวนให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ สวมใส่หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง ข้อสังเกตในการเลือกใช้หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานต้องมีเครื่องหมายบอก.
www.thaipost.net

online